Call Center: (02)538-2229สำนักงาน: (02)538-7900Fax: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com facebook
บทความโดย ภญ. ปิยภัค หิรัญรัศ
โรคข้อเสื่อมเป็นความผิดปกติที่เกิดจากความเสื่อมในส่วนโครงสร้างของข้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มักเริ่มพบในวัยกลางคนขึ้นไป โดยมักพบในตำแหน่งของข้อที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง คอ และมือ นอกจากนี้ยังพบว่าเกิดกับข้อที่เคยได้รับการบาดเจ็บ มีการติดเชื้อ หรือเคยมีข้ออักเสบนำมาก่อน
อาการของข้อเสื่อม ได้แก่ ข้อติดขัด หรือข้อฝืดตึง โดยเฉพาะเมื่อหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่นหลังตื่นนอน เหยียดหรืองอข้อได้ไม่สุด เคลื่อนไหวและใช้งานข้อไม่สะดวก และอาจรู้สึกถึงการเสียดสี หรือมีเสียงดังในข้อในขณะมีการใช้งาน ปวดข้อเมื่อเคลื่อนไหว ซึ่งส่วนใหญ่อาการปวดของโรคข้อเสื่อมมักเกิดในระหว่างที่มีการใช้งานของข้อซึ่งมักกินเวลานาน 30 นาทีและอาการมักดีขึ้นเมื่อได้พักใช้งาน สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการรุนแรงมากก็อาจมีอาการปวดข้ออย่างมากและรุนแรงเมื่อใช้งาน รวมทั้งรู้สึกว่าข้อหลวม ขาดความมั่นคง มีลักษณะผิดรูป
สาเหตุของโรคเกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างของข้อทั้งในด้านรูปร่างและการทำงาน โดยการดำเนินโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จึงอาจไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใด ๆ ในระยะแรก แต่เมื่อกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อถูกทำลายมากขึ้น ทำให้เมื่อมีน้ำหนักหรือแรงกดที่กระทำกับข้อ ส่งผลให้กระดูกใต้ข้อและกระดูกอ่อนผิวข้อสัมผัสเสียดสีกันได้มากขึ้น กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อถูกยืด เป็นเหตุให้เกิดอาการปวด เมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้อาการปวดรุนแรงขึ้น กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อฝ่อลีบเล็กลง ข้อโก่ง ผิดรูปและเสียสภาพในที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อม ได้แก่
1. น้ำหนักตัว ภาวะน้ำหนักตัวเกินจะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อที่รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2. อายุที่มากขึ้น มีโอกาสพบโรคข้อเสื่อมมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นความเสื่อมตามวัย
3. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะเมื่อในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคข้อเสื่อม
4. การใช้งานหนักเกินไป หรือใช้ข้อในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง เช่น กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อต้องรับแรงกดมาก
5. มีประวัติเคยได้รับบาดเจ็บ หรือติดเชื้อ บริเวณข้อ
แนวทางการรักษา
เป้าหมายหลักในการรักษาคือ บรรเทาอาการปวดและฟื้นฟูรักษาสภาวะการทำงานของข้อให้สามารถใช้งานได้ ชะลอการเสื่อมของข้อ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไข้ โดยแนวทางการรักษามีหลายรูปแบบได้แก่
1. การใช้ยา เพื่อระงับปวดและลดการอักเสบของข้อ ทั้งรูปแบบยารับประทาน และยาใช้ภายนอก
2. การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพของข้อ ลดการเกิดข้อฝืด ข้อติด
3. การบริหารข้อ ลดการเกิดข้อฝืด ข้อติด เพิ่มความยืดหยุ่น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ เพื่อให้รับน้ำหนัก และทนต่อการใช้งานได้ดีขึ้น
4. การผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมในผู้ที่มีการทำลายของข้ออย่างมาก มีลักษณะผิดรูป หรือมีการสูญเสียการทำงานของข้อจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
การป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของข้อ นอกจากการดูแลสุขภาพข้อด้วยการไม่ใช้งานข้อในทางที่ผิด หรือรุนแรงเกินปกติแล้ว การเลือกอาหารเสริมที่มีงานวิจัยในการชะลอความเสื่อมของข้อ บรรเทาการอักเสบ นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีซึ่งสามารถใช้ทั้งในด้านการป้องกัน หรือชะลอการเสื่อมของข้อ และเสริมการรักษาได้ เช่น การใช้ Undenatured type II collagen เพื่อชดเชยคอลลาเจนที่ถูกทำลาย เสริมสร้างกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบ ๆ ข้อ และยังช่วยบรรเทาการอักเสบของข้อ นอกจากนี้ในการบรรเทาปวดและอักเสบ การใช้สารสกัดขมิ้นชัน สารสกัดจากผลกุหลาบป่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสารอนุมูลอิสระ โดยมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า สารสกัดดังกล่าวช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบ บรรเทาปวด ลดการบวมอักเสบได้ดี จึงเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพข้อได้ในระยะยาว
References
1. www.niams.nih .gov/health-topic/Osteoarthritis Basics: Overview, Symptoms, and Causes (nih.gov)
2. www.who.int/news-room/fcat-sheets/details/osteoarthritis (who.int)
ขอบคุณภาพจาก Freepix
บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด
2585/2 ถนนลาดพร้าว(ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 87)แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทร: (02)538-7900 แฟกซ์: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com
[คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่]