Call Center: (02)538-2229
 สำนักงาน: (02)538-7900
 Fax: (02)538-5508
 E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com

โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบคุกคามชีวิต


ผู้เขียน : shopaga.kวันที่ : 12/08/2024หมวด : โรค

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่เกิดจาก การที่ร่างกายมีความหนาแน่นของแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบในกระดูกลดลง และมวลของกระดูกลดลง รวมถึง การที่โครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง เกิดความเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และเสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยมีผลต่อการเคลื่อนไหวและอาจถึงขั้นทำให้พิการได้ โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามคุณภาพชีวิต เนื่องจากไม่แสดงอาการใด ๆ ให้ผู้ป่วยทราบจนกว่าจะเกิดการแตกหัก เสียหาย รวมถึงอาจกดเบียดเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหว โดยมักเกิดบริเวณกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และข้อมือ สาเหตุของโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูก 2 ชนิด ได้แก่ เซลล์ชนิดที่มีหน้าที่สร้างและหน้าที่สลายกระดูก โดยมีการสร้างกระดูกลดลง และมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก มักพบโรคนี้ในผู้หญิงและผู้ชายวัยทอง โดยมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน ได้แก่ 1. กรรมพันธุ์ โดยหากมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป้นโรคนี้ จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2. น้ำหนักตัว พบว่าผู้ที่น้ำหนักตัวน้อย รุปร่างเล็ก มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนมากกว่า 3. พฤติกรรมการบริโภคอาหาร การทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต นอกจากนี้ อาหารบางประเภทอาจทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูกหรือเสียสมดุลของแคลเซียม เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง การดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4. วิถีชีวิต พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรืออยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน รวมทั้งการใช้งานหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหักโหม นอกจากนี้ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกระดูก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้สูง 5. โรคและความเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียม เช่น โรคทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ไต ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต โรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โรคมะเร็งบางชนิด ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 6. ยาบางชนิด การได้รับยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคข้ออักเสบ ยาเบาหวาน ยาลดการหลั่งกรด ยากันชัก ยารักษาโรคหืด ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน และยารักษามะเร็ง การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน การตรวจโรคกระดูกพรุนจะเป็นการตรวจโดยใช้เครื่อง Bone Densitometer ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้รังสี ที่นิยมคือ DEXA Scan (Dual-Energy x-ray Absorptiometry Scan) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหาความหนาแน่นของกระดูกที่ใช้รังสี X Ray ในปริมาณต่ำ และนำค่าที่วัดได้ไปประเมินเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ มีความแม่นยำสูง ใช้เวลาในการสแกนน้อย ปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายในขณะสแกนต่ำ ไม่มีการทำลายเนื้อเยื่อและไม่สร้างความเจ็บปวด การรักษาโรคกระดูกพรุน วิธีรักษาจะด้วยการใช้ยาจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก โดยยาที่ใช้รักษามีหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่นิยมใช้ได้แก่ กลุ่ม Bisphosphonates ซึ่งช่วยชะลอหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้ดีขึ้น การป้องกันโรคกระดูกพรุน การดูแลสุขภาพกระดูก ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ และอาหารที่ทำให้ร่างกายมีความเป็นกรดสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ออกกำลังกายแต่พอดีและสม่ำเสมอ หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอ อาจเลือกอาหารเสริมแคลเซียมในรูปที่ดูดซึมดี เช่น Calcium L-Threonate ซึ่งจะช่วยรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากการเสริมแร่ธาตุแคลเซียมแล้ว ยังควรเสริมแร่ธาตุและวิตามินอื่นที่มีบทบาทเสริมสร้างกระดูกด้วย ได้แก่ แมกนีเซียม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการนำแคลเซียมไปสะสมในกระดูก วิตามินดี มีบทบาทสำคัญที่ช่วยในการดูดซึมของแคลเซียม วิตามินเค 2 มีบทบาทกระตุ้นกระตุ้นการทํางานของเซลล์สร้างกระดูก และวิตามินซีมีบทบาทสําคัญที่ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจนชนิดที่พบในเนื้อเยื่อกระดูก จึงช่วยเสริมประสิทธิภาพในการสร้างกระดูกได้ บทความโดย ภญ.ปิยภัค หิรัญรัศ Reference www.niams.nih .gov/health-topic/Osteoporosis Basics: Overview, Symptoms, and Causes (nih.gov) Image by pch.vector on Freepik

บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด
2585/2 ถนนลาดพร้าว(ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 87)แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทร: (02)538-7900 แฟกซ์: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com

[คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่]