Call Center: (02)538-2229สำนักงาน: (02)538-7900Fax: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com facebook
โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอ ชื่อโรคไอกรนมาจากลักษณะอาการของโรคที่ทำให้มีอาการไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง ทำให้เด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และเกิดการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียง วู๊ป เรียกว่า Whooping cough สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน”
ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ที่มีเชื้ออยู่แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน แต่หากสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่มีการติดเชื้อ โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกวัยหากไม่มีภูมิคุ้มกัน ในผู้ใหญ่อาการมักไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ไม่มีอาการแบบไอกรน จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค ส่วนในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงและมีอัตราตายสูง โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
การรักษาโรคไอกรนทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) หรือ อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อโรคได้ดี หากให้การรักษาได้เร็วก็จะช่วยลดความรุนแรง ระยะเวลา และความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ และให้การรักษาตามอาการ เช่น ดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนมาก ๆ อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น การออกแรง การอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละออง ควันไฟ ควันบุหรี่ อากาศที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป
ปัจจุบัน ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของโรคไอกรนลดลง ซึ่งเป็นผลจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยฉีดเมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดเข็มกระตุ้นที่อายุ 18 เดือน, อายุ 4-6 ปี, อายุ 11-12 ปี และกระตุ้นทุก 10 ปี วัคซีนไอกรนที่มีใช้มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำมาจากเซลล์ทั้งตัว และชนิดไร้เซลล์ ซึ่งชนิดไร้เซลล์จะทำให้มีอาการข้างเคียง เช่น เป็นไข้หลังการฉีดได้น้อยกว่า แต่ในด้านการป้องกันการเกาะติดของเชื้อไอกรนที่หลอดลม วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์จะไม่สามารถป้องกันการเกาะติดของเชื้อที่หลอดลมได้ดีเท่า จึงมีโอกาสพบเชื้อได้ แม้อาการของโรคไอกรนในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรง แต่อาจเป็นพาหะนำเชื้อไอกรนไปสู่เด็กเล็กในครอบครัวได้ ดังนั้น ผู้ที่ไม่แน่ใจในประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้
ที่มา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://www.freepik.com/free-vector/man-having-cold_11207687.htm#fromView=search&page=1&position=1&uuid=5c016a3d-b4b4-4474-9572-3057413af4ef
บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด
2585/2 ถนนลาดพร้าว(ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 87)แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทร: (02)538-7900 แฟกซ์: (02)538-5508
E-mail: bangkokdrugstore@yahoo.com
[คลิกที่ภาพเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่]